• วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร
  • หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล
  • ความเป็นมาหลวงพ่อเยื้อน

พุทธอุทยาน วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีป่าและภูเขาล้อมรอบ มีเนื้อที่         ครอบคลุม ประมาณ 10,865 ไร่ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ และสมุนไพรหายาก รวมทั้งสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร มีทัศนียภาพที่งดงาม สภาพแวดล้อมเงียบสงบร่มเย็น เหมาะกับการศึกษาปฏิบัติธรรม และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญยิ่ง        ผืนป่าบางส่วนติดชายแดนไทย-กัมพูชา ถึงแม้ว่าจะมีร่องรอยการตัดไม้ทำลายป่าให้เห็นอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม  ป่าทั้งผืนแห่งนี้ จัดได้ว่าอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในอิสานใต้ของประเทศไทย

(รูปภาพ) เป็นภาพถ่ายมุมสูงมองเห็นพระอุโบสถ วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร 
ที่ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมด้วยป่าไม้ สัมผัสได้ถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง

 

ในปี พ.ศ.2536 กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น (ปัจจุบัน กรมป่าไม้ อยู่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ได้ประกาศบริเวณพื้นที่ป่าเป็นเขตพุทธอุทยาน ให้ดำเนินโครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ตามความคิดริเริ่มของพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.กกล.สุรนารี โดยมี เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539 คณะกรรมการวัดได้มีมติในการจัดสร้างพระอุโบสถเพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในมหา มงคลวโรกาสครั้งนั้น ลักษณะพระอุโบสถเป็นทรงไทยประยุกต์ ขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 60 เมตร ผลจากพลังศรัทธาสามัคคี และความมานะพยายามของพระครูภาวนาวิทยาคม (เยื้อน ขนฺติพโล) เจ้าอาวาส ตลอดจนคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ และ พุทธศาสนิกชนทั่วไป ที่ได้ร่วมเสียสละกำลังกาย และทุนทรัพย์ อุปถัมภ์การก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยไม่ใช้งบทางราชการแต่อย่างใด และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2541 เพื่อให้เป็นการสมบูรณ์ตามแบบพระธรรมวินัย และทางวัดได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยมี พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นมาเป็นประธานในพิธี

 

ในปี พ.ศ.2547 นอกเหนือจากมีพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตแล้ว ก่อนหน้านี้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เลือกพุทธอุทยาน วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรแห่งนี้เป็นหนึ่งในวัดต่าง ๆ ที่เข้าร่วม โครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้า ราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สมัครใจมาปฏิบัติธรรม โดยไม่ถือเป็นวันลาตามมติคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาบุคลากรโดยใช้หลักธรรมทางพระ พุทธศาสนา

พระอาจารย์เยื้อน เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2495 ที่บ้านระไซร์ ต.นาดี อ.เมือง จ. สุรินทร์ เดิมชื่อ นายเยื้อน หฤทัยถาวร บิดาชื่อ นายมอญ หฤทัยถาวร มารดาชื่อ นางฮิต หฤทัยถาวร มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ท่านเป็นบุตรคนแรก

 

 

อุปสมบท -- เมื่ออายุครบ 20 ปี ในวันที่ 16 เมษายน 2515 ณ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ (ธรรมยุต) โดยมี พระรัตนากรวิสุทธิ์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสถิตยสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูวิมลสีลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การศึกษา - จบประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านระไซร์ ต.นาดี อ.เมือง จ.สุรินทร์

ฝึกอบรมและศึกษาดูงาน

ศึกษาธรรมและปฏิบัติภาวนาตั้งแต่ปี 2515 เริ่มในวันแรกที่บวช โดยศึกษากับหลวงปู่ดุลย์ ซึ่งท่านได้สอบจิตทำความสงบ สามารถปฏิบัติภาวนาได้รวดเร็วมีจิตสงบนิ่ง หลวงปู่ดุลย์จึงได้สนับสนุนให้ปฏิบัติธรรม โดยท่านกล่าวว่า "จิตเข้าสู่โลกุตรธรรมแล้ว ไม่ต้องเรียนหนังสือ ให้ปฏิบัติธรรมต่อไป" ต่อมาท่านได้ฝากให้เข้ารับการศึกษาอบรมข้อวัตรปฏิบัติกับ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2516 ได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงตาจนถึงปี 2518

ในช่วงระหว่างปี 2518 - 2519 เขมรแดงได้เข้ายึดครองประเทศกัมพูชา ทหารเขมรแดงได้เข่นฆ่าประชาชนฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามแตกกระเจิงรุกล้ำเข้ามายัง เขตแดนของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ฝ่ายกองกำลังผู้ก่อการร้ายในประเทศไทยเอง ก็สู้รบกับกำลังทหาร ตำรวจไทยอย่างดุเดือดรุนแรง โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดน สาเหตุจากการขัดแย้งด้าน การเมือง

ฝ่ายทหารไทยโดยกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารีต้องการได้พระภิกษุมาปลอบขวัญทหารที่ทำการสู้รบ จึงทูลขอจากสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งขณะนั้นยังดำรงเป็นสมเด็จพระญาณสังวรแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อให้พระมาอยู่ประจำกับค่ายทหารที่ชายแดนในโครงการ "พระสงฆ์นำการทหารเพื่อความมั่นคง"

สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาให้ทหารไปขอพระภิกษุจากพระราชวุฒาจารย์หรือ หลวงปู่ดูลย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์โดยตรง ในฐานะที่ท่านเองก็อยู่ในท้องถิ่นนั้นอยู่แล้ว หลวงปู่ดูลย์พิจารณาแล้วเห็นว่าพระที่จะไปอยู่กับทหารเห็นมีเหมาะสมเพียง องค์เดียว คือพระเยื้อน ขันติพโล เท่านั้น จึงสั่งให้พระจากวัดพร้อมกับทหารไปนิมนต์พระเยื้อนซึ่งขณะยังปฏิบัติธรรม ศึกษาอยู่กับหลวงตามหาบัวที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ทหารกับพระที่มาด้วยแจ้งต่อพระเยื้อนว่า หลวงปู่ดูลย์ต้องการตัวให้รีบมาด่วน พระเยื้อนจึงกราบลาหลวงตามหาบัวเดินทางกลับสุรินทร์

เมื่อเข้าพบหลวงปู่ดูลย์ท่านก็บอกว่า การอบรมวิปัสสนากรรมฐานเพียงพอแล้ว ให้กลับมาเผยแผ่ศาสนาในจังหวัดสุรินทร์ โดยมีกองทัพภาคที่ 2 สนับสนุนสร้างสำนักสงฆ์ให้ไปจำพรรษาที่เนิน 424 ช่องพริก ต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุ รินทร์

พระเยื้อนกราบเรียนหลวงปู่ดูลย์ว่าท่านเองปฏิบัติวิปัสสนามาน้อย พรรษาก็น้อยไม่เพียงพอกับการรับภารกิจนี้ได้ จำเป็นต้องอยู่ศึกษากับหลวงตามหาบัวอีกนาน แต่หลวงปู่ดูลย์ยืนกรานให้มาช่วยทางสุรินทร์ และได้ทำหนังสือขอตัวพระเยื้อนจากหลวงตามหาบัวในเวลาต่อมา ฝ่ายหลวงตามหาบัวเมื่อได้รับหนังสือขอตัวพระเยื้อนกลับไป ท่านก็กล่าวว่า เสียดายไม่อยากให้กลับเลย แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อหลวงปู่ดูลย์ขอตัวมาก็ต้องให้กลับไปช่วยท่านก่อน และได้ฝากคำพูดกับพระเยื้อนว่า "ถ้าออกไปแล้วสู้ไม่ไหวก็กลับมา วัดป่าบ้านตาดเปิดประตูรับท่านตลอดเวลา"

พระเยื้อนขัดคำสั่งหลวงปู่ไม่ได้ เมื่อทหารเอารถมารับจึงได้มาอยู่ที่เนิน 424 ตั้งแต่ปี 2518 เหตุการณ์ในช่วงนั้นบ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และจากทหารเขมรแดงก่อความเดือดร้อนทั้งชาวไทยและชาวเขมร ชาวบ้านหนีตายถึงกับบ้านแตกสาแหรกขาด ถูกล้อมเผาหมู่บ้านต้องอพยพหนีภัยกันอย่างน่าสลดใจยิ่ง

ต่อมาในปี 2519 มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นที่เนิน 424 เวลาประมาณ 03.00 น. ถึงประมาณเที่ยงของวันรุ่งขึ้น มีกองกำลังไม่ทราบสัญชาติมาโจมตีหน่วยตระเวณชายแดนที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ 500 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน แล้วก็มาเผาวัด เผาโรงเรียน เอาจรวจ อาร์ พี จี ยิงใส่พระพุทธรูปจนระเบิด เวลานันพระเยื้อนต้องหลบหนีเอาตัวรอด เมื่อหาที่อยู่ไม่ได้ จึงกลับไปอยู่ที่วัดบูรพารามและจำพรรษาอยู่ที่นั่น 1 พรรษา

ในเวลานั้นมีผู้ไม่หวังตีต่อพระอาจารย์เยื้อน ขณะที่อาจารย์ไปสรงน้ำให้หลวงปู่ดูลย์ ลักลอบนำสีกาไปไว้ให้นอนบนเตียงในห้องอาจารย์เยื้อน เมื่ออาจารย์กลับมาเข้าห้องไม่ได้จึงให้สามเณรปีนหน้าต่างไปดู พบสีกาอยู่ภายในจึงขับไล่ไปเสีย พระอาจารย์เยื้อนเกิดความสังเวชใจจึงกราบเรียนปรึกษาหลวงปู่ดูลย์และขอ อนุญาตปลีกตัวออกวิเวก เมื่อได้รับอนุญาตแล้วท่านจึงออกธุดงคไปยังสถานที่อันสงบตามป่าเขาในจังหวัด กาญจนบุรี ท่านธุดงค์ด้วยเท้าไปทางด่านเจดีย์สามองค์ จนผ่านด่านลึกเข้าไปในเขตแดนกะเหรี่ยง ถูกทหารกะเหรี่ยงจับไปคุมขังไว้ 4 วัน เนื่องจากคิดว่าเป็นสายลับของทหารพม่า ต่อมาทหารกะเหรี่ยงสอบสวนแน่ชัดแล้วว่าไม่ใช่ฝ่ายศัตรูจึงปล่อยตัวมา พระอาจารย์เยื้อนเดินทางกลับ แต่หลงป่าเสียอีก 22 วันโดยไม่ได้ฉันอาหารเลย ฉันแต่น้ำ ครั้นหาทางออกจากป่าได้แล้ว จึงเดินทางกลับมากราบหลวงปู่ดูลย์ที่สุรินทร์

รับงานใหญ่ สร้างวัดให้หลวงปู่ดูลย์

ระหว่างปี 2520 หลวงปู่ดูลย์ปรารถนาจะสร้างวัดสาขาขึ้นในอำเภอสนม เป็นวัดให้ภิกษุ สามเณรได้ศึกษาปฏิบัติกัมมัฏฐาน จึงมอบหมายให้พระอาจารย์เยื้อนไปสำรวจสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อดำเนินงานต่อไป เมื่อได้รับมอบหมายท่านอาจารย์เยื้อนจึงนำเรื่องการสร้างวัดไปปรึกษากับแม่ ชีกาญจนา บุญญลักษม์ (แม่ชีน้อย) ซึ่งเป็นโยมอุปฐาก และเป็นศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่ดูลย์คนหนึ่ง แม่ชีกาญจนาจึงมอบหมายให้บุตรชายของท่านคือ นายไพบูลย์ บุญญลักษม์ ซึ่งมีภูมิลำเนาทำการค้าอยู่ในอำเภอสนมอยู่แล้ว ให้ช่วยสำรวจสถานที่สร้างวัด

คณะสำรวจไปพบสถานที่แห่งหนึ่งเป็นที่สาธารณะและเป็นป่าช้าเก้ารกร้างที่ตำบล บ้านโดน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ จึงกราบเรียนหลวงปู่ หลวงปู่จึงสั่งให้อาจารย์เยื้อนไปปักกลดจำศีลภาวนาปฏิบัติธรรมในป่าช้าแห่ง นั้นเพื่อเป็นการบุกเบิก

วิบากกรรม

เมื่อพระอาจารย์เยื้อน ขันติพโล ได้รับมอบหมายจากหลวงปู่ดูลย์ แล้วก็มิได้นิ่งนอนใจ เริ่มเดินทางไปอำเภอสนม และเข้าไปปักกลดปฏิบัติภาวนาในป่าช้าสาธารณะแห่งนั้นทันที คืนแรกของการอยู่กลดธุดงค์ หลังจากได้สวดมนต์ทำวัตรเย็น และภาวนาก็ปรากฏเหตุคล้ายฝัน ซึ่งฝันในทางพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวไว้ว่าความฝันเกิดได้ 4 ประการคือ กรรมนิมิต จิตอาวรณ์ เทพสังหรณ์ และธาตุพิการ จะด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 เหตุที่ว่ามานี้ พระอาจารย์เยื้อนได้เห็นภูมิเทวดาในชุดสีขาว 4 องค์ ถือพานดอกไม้ธูปเทียนเข้ามากราบนมัสการและนิมนต์ให้ท่านไปอยู่ที่วัดคู่ เมือง พร้อมทั้งชี้ไปรอบๆ พื้นที่ว่างเปล่า ณ ที่นั้นพร้อมกับบอกแก่ท่านว่า หากมาอยู่ที่นี่คิดจะทำกิจการสิ่งใด ก็จักสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ พระอาจารย์เยื้อน อยู่ปฏิบัติที่ป่าช้าสาธารณะแห่งนี้เป็นเวลา 4 วัน จึงกลับวัดบูรพาราม

ต้นปี พ.ศ.2520 อุบาสิกากาญจนาได้นิมนต์หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่สาม ท่านอาจารย์สมพร และภิกษุสงฆ์อื่นๆ อีก 6 รูป ไปเจริญพระพุทธมนต์ทำบุญบ้านบุตรชายที่อำเภอสนม และได้ถือโอกสนั้นนิมนต์หลวงปู่ดูลย์ไปดูสถานที่ป่าช้าสาธารณะแห่งนั้น เมื่อหลวงปู่ได้พิจารณาแล้วเห็นเหมาะสมที่จะสร้างวัดป่าเพื่อเป็นวัดปฏิบัติ สืบต่อไปได้ตามปราถนา จึงได้ให้พระอาจารย์เยื้อนมาปฏิบัติบุกเบิกอยู่ ณ ที่นี้ต่อไป

การมาอยู่ป่าช้าครั้งที่ 2 นี้ พระอาจารย์เยื้อนได้ปฏิบัติกิจออกบิณฑบาต และกลับไปอยู่ภาวนาที่กลด ปรากฏว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น เลื่อมใสสนใจมานมัสการ สนทนาธรรมและรับการอบรมสมาธิภาวนากับพระอาจารย์ แต่เมื่อย่างเข้าวันที่ 13 ปรากฏว่าการมาอยู่ป่าช้าของพระอาจารย์เยื้อนเริ่มมีอุปสรรคขัดขวางและมี เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย พระอาจารย์ต้องได้รับความทุกข์จากการถูกขับไล่ให้ออกจากป่าช้านั้นด้วยการ กลั่นแกล้งด้วยวิธีต่างๆ เป็นเรื่องราวใหญ่โตจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอดในครั้งกระนั้น

ท่านประสบกับการต่อต้านทั้งจากฆราวาสและพระสงฆ์ที่อยู่เดิมในอำเภอนั้น พยายามในวิธีการต่างๆ ที่จะขับไล่ไสส่งให้พระอาจารย์ฯต้องออกจากพื้นที่ป่าช้าแห่งนั้นให้ได้ และได้กระทำถึงขั้นการใส่บาตรโดยเอาข้าวผสมผงขัดหม้อ กรวดทราย และการใช้ยาสั่ง และการเผาปะรำที่ชาวบ้านผู้ศรัทธาสร้างถวายให้อยู่ เป็นต้น เรื่องได้ลุกลามถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองต้องเข้ามาเกี่ยวข้องสืบ สวนประชุมชาวบ้านเพื่อให้ลงมติว่าจะให้ท่านอาจารย์ฯออกจากป่าช้าหรือให้อยู่ เมื่อมีการประชุมออกเสียงของชาวหมู่บ้านต่างๆ แล้ว ปรากฏว่าพวกศรัทธาประมาณ 600 คน ขอให้อยู่ต่อไป พวกต่อต้านมีประมาณ 200 คน จึงยอม แต่ก็ไม่ยุติเรื่องเพียงเลี่ยงมาใช้การปลุกปั่นยุยงโดยการกระจายเสียงไม่ให้ ชาวบ้านทำบุญใส่บาตรและไม่ให้คบค้าและซื้อสินค้าจากบุตรชายของแม่ชีกาญจนา อีกคนหนึ่งด้วย

การขัดขวางรุนแรงขึ้นถึงขั้นเอาชีวิตกันทีเดียว โดยที่คืนวันหนึ่งเวลาดึกสงัดขณะที่พระอาจารย์เยื้อนกำลังนั่งภาวนาอยู่ใน กลดได้มีชาวบ้านเอาอิฐ หิน มาระดมขว้างปาเข้าใส่กลดที่พระอาจารย์กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่อย่างหนัก ซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาแล้วคงจะมีชีวิตอยู่ได้ยาก รุ่งเช้าชาวบ้านที่ต่อต้านท่านได้ออกเที่ยวไปปล่อยข่าวว่าพระป่าตายแล้ว ชาวบ้านที่ศรัทธาในตัวพระอาจารย์พากันเศร้าเสียใจ และเดินทางจะไปเยี่ยมศพ แต่กลับปรากฏว่าท่านยังมีชีวิตอยู่เหตุการณ์ครั้งนั้นท่านก็มิได้เอาเรื่อง ด้วยถือว่าเป็นกรรมี่ได้เคยร่วมทำกันมา

เมื่อเอาชีวิตพระป่าไม่ได้ ฝ่ายต่อต้านก็เปลี่ยนใช้วิธีใหม่ที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ตอนนั้น ด้วยการออกบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่าพระอาจารย์เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ก่อการร้ายและการขยายงานของพรรคคอมมิวนิสต์ ยังดำเนินการอยู่กว้างขวาง พื้นที่อำเภอสนม ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สีชมพู คือเป็นพื้นที่ที่มีคอมมิวนิสต์ดำเนินงานมวลชนอยู่มาก กล่าวหาว่าเป็นพระอวดอุตริมนุสธรรม ทำตนเป็นพระวิเศษ มีเรื่องชู้สาว เป็นต้น เรื่องต่างๆ เหล่านี้ พระอาจารย์เยื้อนได้เล่าถวายหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้เป็นอาจารย์ด้วยตนเอง ซึ่งท่านได้กล่าวว่า " คนเรามีกัมมัฏฐานดีอยู่แล้ว อยู่ป่าช้าก็ดี ตายแล้วไม่ต้องไปหาที่ฝังที่ไหนอีก และให้มันรู้ไปว่าคนดีจะอยู่ที่นี่ไม่ได้" คำกล่าวเพียงนี้ได้สร้างพลังใจและความอดทนให้แก่พระอาจารย์เพิ่มยิ่งขึ้นอีก เพื่อปลดเปลื้องกรรมที่มีและรอผลตอบแทนจากความสำเร็จซึ่งมิใช่สำเร็จ ประโยชน์แก่พระอาจารย์เอง เมื่อสามารถเผชิญต่อวิบากและอุปสรรคทั้งหลายได้อย่างไม่หวั่นไหวในฐานะพระ ป่าแล้ว แต่ผลที่สามารถสร้างวัดได้สำเร็จสมปรารถนาของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ครูอุปปัชฌาอาจารย์ของท่านเองคือ มีวัดสาขาอยู่ในอำเภอสนม ซึ่งเป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่แก่ท่านอาจารย์ฯ

หลังจากได้ตั้งปณิธานอันแน่วแน่เช่นนั้นแล้ว พระอาจารย์เยื้อนก็ได้ยืนหยัดอยู่ปฏิบัติธรรมที่นั่นสืบไป อย่างไม่ย่อท้อหรือหวั่นไหวต่อเหตุที่จะเกิด ครั้งหนึ่งท่านฉันอาหารโดนยาสั่ง ทำให้อาเจียนและล้มป่วยเกือบเอาชีวิตไม่รอด จนถึงหลวงปู่ดูลย์เมตตาเดินทางมาดูแลอยู่ด้วย 2 วัน หลังจากหายป่วยแล้ว ชาวบ้านผู้ต่อต้านยังคงดำเนินการฟ้องร้องทางการการว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาสอบสวน ซึ่งมีแม่ทัพภาค 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ขณะนั้น และ พ.อ.ชาญ ทองดี ทราบข้อเท็จจริงแล้ว กลับนิเยมเลื่อมใสในพระอาจารย์เยื้อน จึงเห็นเหตุชาวบ้านจะก่อเหตุเผาปะรำ ศาลาน้อยของท่าน แต่นายปัญญา บุญญลักษม์ ได้เข้าขัดขวางไว้ได้

เรื่องที่น่าแปลกคือกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกับพวกต่อต้านหาได้รู้จักพระอาจารย์ เยื้อนโดยส่วนตัวไม่ ทั้งยังไม่เคยเห็นว่าพระป่ารูปร่างเป็นอย่างไร การที่เข้าร่วมต่อต้านด้วยก็เป็นไปเพราะแรงยุเท่านั้น จะเห็นได้จากครั้งหนึ่งชาวบ้านประชุมวางแผนจะขับพระป่าออกไป โดยชาวบ้านรวมตัวกันได้ประมาณ 1,000 คน และมีชาวบ้านขบวนหนึ่งได้พบท่าน ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์กำลังจะเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์ แต่ก็เกิดเปลี่ยนใจไม่ไป ชาวบ้านเหล่านั้นได้ชวนท่านให้ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อขับไล่พระป่า เพราะตั้งแต่พระป่ามาอยู่เป็นเหตุให้คนไม่ทำงาน มัวแต่จับกลุ่มคุยฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อถามว่าเคยเห็นพระป่าองค์นั้นไหม ก็ได้คำตอบว่า "ไม่เคยเห็น"

ท่านเดินทางตามชาวบ้านกลุ่มนั้นไป แต่แล้วก็ได้เดินแยกไปอีกทางหนึ่ง พบชาวบ้านระดับหัวหน้ากลุ่มกำลังประชุมวางแผนกันอยู่ พระอาจารย์จึงยืนฟังแผนการที่ชาวบ้านพวกนั้นจะเดินขบวนขับไล่ หากครั้งนี้ทำไม่ได้ผลก็จะบุกเข้าจับมัดเอาตัวไปทิ้งให้ห่างไกลและหากกลับมา อีก ก็จะฆ่าทิ้งเสียให้สิ้นเรื่อง เมื่อชาวบ้านปรึกษาหารือกันแล้ว ท่านจึงได้ออกจากที่ที่ยืนซุ่มอยู่ และถามว่า " ทำไมไม่ไปคุยกันในป่าช้า" พวกชาวบ้านบ้านเหล่านั้นคาดไม่ถึงว่าจะพบพระอาจารย์ในลักษณะนั้น ก็พากันตกใจรีบแยกย้ายหนีกลับบ้าน

เมื่อกลับมาถึงป่าช้า ท่านก็ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านที่เดินขบวนมาถึงว่า เมื่อท่านมาที่นี่เอง และโยมพากันมาขับไล่ด้วยความไม่เข้าใจ ตัวท่านก็จะขออยู่ต่อไปก่อนเพื่อชี้แจงให้หายข้องใจแล้วจึงจะออกไป เมื่อมาเองได้ก็ออกไปเองได้ ไม่ต้องมาขับไล่ แม้จะพยายามชี้แจงอย่างไร ฝ่ายต่อต้านพระป่าก็ไม่ยอมฟัง กลับพากันเผาศาลาปะรำที่อาศัยจนท่านต้องย้ายที่อยู่ใหม่ แต่นั่นยังไม่พอเพียง ได้ส่งคนมายืนด่าเช้าด่าเย็นทุกวัน ร้อนถึงนายลิ้ม นวลตา ต้องนำเรื่องไปกราบเรียนต่อพระอาจารย์สุวัฒน์ สุวโจ ซึ่งท่านได้มาขอร้องให้พระอาจารย์เยื้อนออกจากป่าช้าแห่งนั้นเถิด เพราะเกรงว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับพระอาจารย์ ในที่สุดนายอำเภอต้องรับหน้าที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งนั้นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อออมชอม และนำมาซึ่งสันติสุขและความสงบ เรื่องราวทั้งหลายในอำเภอนี้

 

 

พ้นวิบากกกรรม วัดป่าฯ เกิด

คงจะเป็นเพราะเคราะห์และวิบากกรรมต่างๆ ของพระอาจารย์เยื้อนจะถึงที่สุด จึงเป็นผลให้ชาวบ้านที่ศรัทธาในพระอาจารย์ที่มีจำนวนมากพอสมควร โดยการนำของนายปัญญา บุญญลักษม์ ได้พร้อมใจกันตกลงซื้อที่ดินจำนวน 25 ไร่ ในราคา 65,000 บาท จากนางถาวร อึ้งพานิช และถวายเพื่อสร้างวัด โดยให้ชื่อว่า "วัดป่าบุญญลักษม์" ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของตระกูลบุญญลักษม์ ที่มีความศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา และเพื่อเป็นมงคลนามตามที่หลวงปู่ดูลย์มอบไว้ในครั้งเริ่มแรกสร้างวัด หลวงปู่ได้ให้รื้อศาลาหลังเก่าจากวัดบูรพารามมาสร้างไว้เป็นศาลาไม้ และท่านได้เคยมาพำนักอยู่ที่วัดนี้เป็นประจำ กุฏิที่ศิษย์สร้างถวายหลวงปู่ ปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี บริเวณวัดครั้งกระนั้นยังลุ่มๆ ดอนๆ แห้งแล้ง แต่ก็ด้วยบุญบารมีของหลวงปู่ดูลย์ ที่แม้จะทิ้งสังขารขันธ์แล้วก็ยังตามมาเกื้อหนุนวัดที่ดำริสร้าง จึงทำให้มีผู้สนใจวัดป่าแห่งนี้ กล่าวคือ ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ในปี 2528 พระอาจารย์เยื้อนได้มีโอกาสพบคุณพเยีย พนมวัน ณ อยุธยา ผู้นับถือในองค์หลวงปู่กับพวก ได้เดินทางขึ้นมาร่วมงานบำเพ็ญกุศลถวายหลวงปู่ เกิดความสนใจและได้ขอไปดูวัดป่าฯ ของหลวงปู่ เมื่อมาเห็นสภาพดังกล่าว ก็ให้มีจิตคิดจะบำรุง จึงได้นำญาติมิตรมาร่วมกับปรับพื้นที่ และเริ่มปลูกสร้างถาวรวัตถุ โดยเฉพาะที่สำคัญคือ ศาลาอเนกประสงค์หลังปัจจุบันที่สร้างแทนศาลาไม้ที่ผุพังเหลือกำลังที่จะซ่อม แซมได้แล้ว นอกจากนี้ทางวัดยังประสบปัญหาความกันดารขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำกิน น้ำใช้ คณะญาติมิตร ผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมเป็นกำลังขุดสระน้ำ สร้างถังเก็บน้ำฝนถวาย และเดินทางสายไฟฟ้าเข้าใช้ในวัดด้วย

เนื่องจากศรัทธาที่หลั่งไหลจากญาติโยมทั้งใกล้ไกลมาช่วยทำนุบำรุงก่อสร้าง เสนาสนะเพิ่มเติม ชั่วระยะเวลา 10 ปี จึงทำให้ปัจจุบันวัดมีถาวรวัตถุหลายสิ่งเพยงพอแก่การอยู่ใช้ เช่น ศาลาอเนกประสงค์ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 24 เมตร 1 หลัง เป็นที่ประกอบศาสนกิจต่างๆ หากได้ฝังลูกนิมิตและผูกพัทธสีมาเสร็จแล้ว ก็จะใช้เป็นพระอุโบสถเพื่อให้สงฆ์ได้ลงทำสังฆกรรมได้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ ต่อไป เพราะปัจจุบันวัดนี้ก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 โดยมีนางพงส์ สารสิน รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระราชโองการ

นอกจากนั้นมีกุฏิพระ 9 หลัง กุฏิชี 6 หลัง และที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรม 1 หลัง ยังขาดแต่โรงครัว บริเวณรอบนอกมีกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ ภายในมีต้นกะถินณรงค์ปลูกไว้พอเป็นร่มเงาให้ความร่มรื่นได้พอสมควร




พ.ศ. 2526 เผยแผ่พุทธศาสนา ปฏิบัติธรรม ณ กรุงบอน ประเทศเยอรมัน

พ.ศ. 2527 ธุดงค์เผยแผ่พุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมพร้อมคณะพระสังฆราช ณ ประเทศเนปาล

พ.ศ.2549 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พัดยศที่ พระพิศาลศาสนกิจ

พ.ศ. 2550 เป็น 1 ใน 5 ของผู้ได้รับรางวัล ผู้บำเพ็ญประโยชน์ในการพัฒนาจิตประจำปี 2550 ของสภาชาวพุทธและมูลนิธิโลกทิพย์

หลวงพ่อเยื้อน (พระพิศาลศาสนกิจ)

ประวัติความเป็นมา ....โดย Granun

ในบรรดาศิษย์ของหลวงปู่ดุลย์.. น้อยคนนักจะรู้ว่าหลวงพ่อเป็นพระอุปฐากใกล้ชิดที่ติดตามหลวงปู่ไปทุกที่ อย่างเงียบๆ ท่านอยู่เคียงข้างหลวงปู่ตราบจนวินาทีสุดท้าย.. ปรนนิบัติตามวัตร และด้วยความกตัญญูรู้คุณอาจารย์สม่ำเสมอ

ในช่วงหนึ่งหลวงปู่ดุลย์ได้ส่งหลวงพ่อไปศึกษาธรรมะจากหลวงตามหาบัว เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่บางคน หรือคนนอกไม่ทราบว่าท่านเป็นศิษย์ใกล้ชิด แต่หลวงพ่อก็ได้กลับมาปรนนิบัติหลวงปู่อย่างใกล้ชิดในช่วงหลัง

 

ภาพจากซ้ายไปขวา : เจ้าคุณโพธินันทมุนี , พระอาจารย์เยื้อน, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล, พระครูสถิต วัดบวรมงคล

 

ภาพหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีค่ายิ่งรูปนี้ เป็นรูปอนุสรณ์ ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

 

ภาพจากซ้ายไปขวา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระโพธินันทมุนี และพระอาจารย์เยื้อน ขันติพโล นั่งรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ภาพ: พระอาจารย์เยื้อน กำลังป้อนข้าวต้ม หลวงปู่ดูลย์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

หลังจากหลวงปู่ดุลย์ ท่านได้ละสังขารเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี ๒๖ วัน

ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ได้รวบรวมคำสอนของหลวงปู่พิมพ์ไว้ในหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” เป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่งแก่นักปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล ได้รับอาราธนาจาก พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ในปี 2536 และได้ทำหน้าที่พระนักอนุรักษ์ตามอาราธนาของญาติโยมอย่างเต็มที่


ทั้งโดยวิสัยทัศน์ส่วนตัวของหลวงพ่อฯ ที่เห็นประโยชน์และคุณค่าของการรักษาป่า ในช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา หลวงพ่อต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆมากมาย แต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้จนถึงปัจจุบัน โดยป่ายังคงสภาพอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งที่รอบนอกนั้นถูกหักล้างถางพงไปหมดเรียบร้อยแล้ว

 

ในหมู่ลูกศิษย์ที่สนใจเรื่องปฏิบัติ จะทราบดีว่าหลวงพ่อเป็นนักปฏิบัติที่สอนธรรมอย่างเข้าใจง่าย หลายๆคน แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็ได้พบว่า หลายๆครั้งที่ลูกศิษย์มีคำถามที่ตั้งใจเตรียมไปถาม มักจะเผอิญได้คำตอบจากท่านเสียก่อนที่จะถามเสียอีก

ในเดือนเมษายนของทุกปี หลวงพ่อมีกิจที่จะจัดอุปสมบทหมู่ ให้กับผู้สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ในป่า ถือธุดงก์วัตร ปฏิบัติธรรม และบิณฑบาตรทุกเช้า

 

 

ในป่าอันยังเป็นป่าแท้จริงตามหลักธุดงก์ที่พระสายป่านิยม นอกจากเวลาทำวัตร และช่วงเวลารับคำอบรมสั่งสอนจากหลวงพ่อแล้ว

 

 

พระทุกรูปต่างต้องแยกย้ายปลีกวิเวกตามหลักธุดงก์ ไปปฏิบัติตามอัธยาศัยของตน จนครบระยะเวลาที่กำหนด และมาสอบอารมณ์กัมมัฏฐาน และถามข้อข้องใจกับหลวงพ่อ

ในขณะเดียวกันทุกปี จะมีผู้ที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจบวชเพื่อปฏิบัติอย่างเต็มที่ปะปนมาด้วย เสมอ แต่หลวงพ่อก็เมตตา ปล่อยให้ปฏิบัติไปตามกำลัง โดยไม่เคยหงุดหงิด หรือเบื่อหน่ายแม้แต่น้อย ด้วยท่านถือว่า อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้สัมผัสธรรมะและซึมซับจากผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติไว้ เมื่อถึงเวลาวันหนึ่งข้างหน้า ธรรมะเหล่านี้จะส่งผลเอง

ในทุกปี จะมีผู้มีจิตศรัทธาและทราบถึงเจตนา และวัตถุประสงค์ของโครงการบวช ไปช่วยงาน ไปทำบุญตักบาตร ถึงที่วัดเขาศาลาฯ อีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถไปได้ก็ร่วมบุญ โดยการเป็นเจ้าภาพฯ อุปสมบท (รายละ 5,000 บาท) ที่วัดบวรนิเวศน์ ในช่วงเดือนเมษายน

นอกจากนั้นยังมีการบรรพชาเณร ซึ่งผู้ปกครองหลายท่านนิยมโครงการนี้มาก เพราะเป็นการให้เยาวชน ลูกหลานได้ฝึกอบรมบ่มนิสัย และมีธรรมะกล่อมเกลาจิตใจ ไว้รองรับในตอนโต

 

 


ปัจจุบัน หลวงพ่อยังคงเน้นหนักการให้การศึกษาธรรมะโดยการอุปสมบทหมู่ทุกๆปี นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้พระเณรในอุปการะได้ศึกษาเรียนรู้อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการอบรมญาติธรรม ให้ความรู้ในการปฏิบัติ และส่งเสริมกิจกรรมอบรมเยาวชนในพื้นที่ ไปพร้อมๆกับการให้สัมผัสธรรมชาติของป่า เพื่อผลในการรักษาป่าไปด้วย

ร่วมสมทบทุนกิจกรรมต่าง โดยทำผ้าป่าออนไลน์ได้ที่นี่ครับ หมายเลขบัญชีของหลวงพ่อ

ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาบางลำพู บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 116-4-02564-3 ชื่อบัญชี พระพิศาลศาสนกิจ

ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางลำพู บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 008-2-04722-2 ชื่อบัญชี พระพิศาลศาสนกิจ

นอกจากนั้น ถ้ามีโอกาสขอเรียนเชิญทุกท่านมาร่วมงานบุญ ถวายหลวงพ่อฯ ร่วมกันครับ